สมรสเท่าเทียม คือ สิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานในการสร้างครอบครัวโดยไม่จำกัดเพศ เป็นแนวคิดการใช้ชีวิตอย่างเรียบง่าย ที่มนุษย์คนหนึ่งอยากสร้างครอบครัวหรือมีคู่ชีวิต โดยได้รับสิทธิพื้นฐานทางกฎหมายทัดเทียมกันในปัจจุบัน มี 30 ประเทศที่อนุญาตให้คู่รักเพศเดียวกันสมรสกันได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย ได้แก่ 1.เนเธอร์แลนด์ 2.สวีเดน 3.ฝรั่งเศส 4.ไอร์แลนด์ 5.เยอรมนี 6.เบลเยียม 7.โปรตุเกส 8.อรุกวัย 9.กรีนแลนด์ 10.ออสเตรเลีย 11.สเปน 12.ไอซ์แลนด์ 13.นิวซีแลนด์ 14.โคลอมเบีย 15.เมอร์บิวดา 16.แคนาดา 17.อาร์เจนตินา 18.สหราชอาณาจักร 19.ฟินแลนด์ 20.แอฟริกาใต้ 21.เดนมาร์ก 22.ลักเซมเบิร์ก 23.หมู่เกาะแฟไร 24.นอร์เวย์ 25.บราซิล 26.สหรัฐอเมริกา 27.มอลตา 28.ออสเตรีย 29.ไต้หวัน 30.คอสตาริกา
สำหรับประเทศไทย ร่าง พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม เคยเป็นร่างกฎหมายที่พรรคก้าวไกลยื่นร่างต่อสภาฯ ในปี พ.ศ.2563 ก่อนที่จะผ่านวาระแรกพร้อมกับร่าง พ.ร.บ.ที่เกี่ยวข้องกับความเท่าเทียมทางเพศ ทั้งหมดจำนวน 4 ฉบับ เพื่อปลดล็อกข้อจำกัดต่างๆ ในการสมรส จดทะเบียนสมรส และใช้ชีวิตคู่เป็นคู่สมรส ไม่ว่าบุคคลเพศสภาพใดเมื่อสมรสกัน ก็จะได้รับสิทธิประโยชน์ที่กฎหมายรองรับ โดยไม่จำเป็นว่าคู่สมรสนั้นต้องเป็นชายและหญิงเท่านั้น ทำให้มีการร่างข้อกฎหมายที่แก้ไขถ้อยคำระบุรายละเอียดให้มีความเท่าเทียมกันมากขึ้น
หาก พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม ผ่านมติสภาฯ และการพิจารณาของคณะกรรมาธิการ ในทุกวาระ และถูกบังคับใช้เป็นกฎหมายในไทย “สมรสเท่าเทียม” จะมีประโยชน์ในการมอบสิทธิและความเท่าเทียมให้แก่ทุกเพศ เนื่องจากปัจจุบันกฎหมายยังยอมรับการสมรสเฉพาะแค่เพศชาย-หญิง เท่านั้น แต่หากมีการผ่าน พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม กลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ (LGBTQIA+) ไม่ว่าจะเพศสภาพใด ก็สามารถสมรส จดทะเบียนสมรส และเข้าถึงสวัสดิการจากรัฐที่เป็นประโยชน์ได้ ยกตัวอย่าง ดังนี้
- บุคคลไม่ว่าจะมีเพศสภาพ หรือมีอัตลักษณ์ทางเพศอย่างไร เมื่อจดทะเบียนสมรสกันก็ถือเป็น “คู่สมรสที่ชอบด้วยกฎหมาย”
“คู่สมรส” จะไม่จำกัดเฉพาะชาย-หญิง เท่านั้น แต่ครอบคลุมทุกเพศสภาพ
- ใช้ถ้อยคำที่เป็นกลางทางเพศมากขึ้น เช่น สามี-ภรรยา ปรับเป็น “คู่สมรส”, ชาย-หญิง ปรับเป็น “บุคคล”, บิดา-มารดา ปรับเป็น “บุพการี” ทุกบุคคลจะได้รับความเท่าเทียม และได้รับความคุ้มครองทางกฎหมาย ตามหลักความเสมอภาคและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ มีสิทธิในการหมั้น, สิทธิจดทะเบียนสมรส, สิทธิจัดการทรัพย์สินของคู่สมรส, สิทธิเป็นผู้จัดการแทนในทางอาญาเช่นเดียวกับสามี-ภรรยา, สิทธิรับมรดกหากอีกฝ่ายเสียชีวิต, สิทธิรับบุตรบุญธรรม, สิทธิรับมรดกในฐานะทายาทโดยธรรม, สิทธิเซ็นยินยอมให้รักษาพยาบาลอีกฝ่าย, สิทธิจัดการศพ เป็นต้น
- ได้รับสิทธิประโยชน์และสวัสดิการจากรัฐในฐานะคู่สมรส เช่น สิทธิรับประโยชน์ทดแทนจากประกันสังคม, สิทธิเบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาล เป็นต้น
- คู่สมรสสามารถรับบุตรบุญธรรมร่วมกันได้ และให้บุตรบุญธรรมใช้นามสกุลคู่สมรสได้ โดยจะต้องมีอายุแก่กว่าบุตรบุญธรรมอย่างน้อย 15 ปี
- มีการปรับอายุขั้นต่ำของบุคคล ในการจดทะเบียนสมรส จากเดิม 17 ปี ขึ้นเป็น 18 ปี เพื่อสอดคล้องกับอนุสัญญาสิทธิเด็ก (หากอายุไม่ถึง 20 ปีบริบูรณ์ ยังต้องได้รับความยินยอมจากผู้แทนโดยชอบธรรม)
ที่มา:
https://ilaw.or.th/node/6032
http://www.baankluayonline.co/report-equal-marriage/
https://lovefoundation.or.th
https://thestandard.co/key-messages-equal-marriage/