องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้กำหนดอัตราเฉลี่ยของมลพิษทางอากาศ PM2.5 โดยระบุว่าหากมีค่าเกิน 25 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตรถือว่าเป็นอันตรายต่อสุขภาพ สำหรับปีนี้ พ.ศ.2566 นี้ ไม่ว่าจะอ้างอิงมาตรฐานใด ระดับมลพิษทางอากาศ PM2.5 ในหลายๆจังหวัดของประเทศไทยก็อยู่ในระดับวิกฤติเป็นเวลาหลายเดือนแล้ว
PM2.5 คือฝุ่นละอองขนาดเล็กกว่า 2.5 ไมครอนที่มองไม่เห็นด้วยตาเปล่า ผู้คนจึงมักจะตระหนักถึงผลกระทบที่จะเกิดกับสุขภาพของเราได้ช้า ทว่าอันตรายจากฝุ่นละอองนี้ส่งผลกับร่างกายของเราอย่างมากเพราะมันสามารถเข้าไปในระบบทางเดินหายใจและปอดได้อย่างง่ายดาย และอนุภาคบางส่วนอาจถูกส่งผ่านเข้าสู่กระแสเลือดและไหลเวียนไปทั่วร่างกายของมนุษย์โดยมีผลร้ายตามมา
อันตรายต่อระบบทางเดินหายใจและปอด
PM2.5 มีอนุภาคขนาดเล็กและไม่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่าทำให้เราสามารถกลืนกินได้เร็วกว่าและง่ายกว่าสารที่มีอนุภาคขนาดใหญ่ ดังนั้นจึงส่งผลร้ายแรงต่อสุขภาพของเราโดยเฉพาะอย่างยิ่งกับผู้ที่มีโรคในระบบทางเดินหายใจอย่างเช่นหอบหืด และยังเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อโรคมะเร็งปอดหากมีการสะสมของฝุ่นละอองเป็นเวลานาน
อันตรายที่เกิดกับระบบหัวใจและหลอดเลือด
การสูดฝุ่นละอองในช่วงเวลาหนึ่งอาจส่งผลให้เกิดตะกอนภายในหลอดเลือดดำและหลอดเลือดแดง ซึ่งอาจนำไปสู่อาการหัวใจวายหรือโรคหลอดเลือดสมองตีบได้ นอกจากนี้ มลพิษทางอากาศยังส่งผลร้ายแรงต่อเซลล์กล้ามเนื้อหัวใจและหลอดเลือด ซึ่งอาจนำไปสู่ภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะหรือแม้แต่ภาวะหัวใจล้มเหลวได้
อันตรายที่เกิดกับสมอง
เมื่อฝุ่นละอองมีขนาดเล็กพอที่จะผ่านเข้าสู่กระแสเลือดและมีการสะสมเมื่อเวลาผ่านไป อาจส่งผลให้เกิดความดันโลหิตสูงและเลือดข้นหนืดขึ้น ซึ่งทั้งสองอย่างนี้จะเพิ่มความเสี่ยงของการเกิดลิ่มเลือดในสมอง นอกจากนี้ เส้นเลือดในสมองจะแข็ง ซึ่งหมายถึงความเสี่ยงของภาวะขาดเลือดหรือโรคหลอดเลือดสมองก็เพิ่มขึ้นเช่นกัน ซึ่งทั้งสองอย่างนี้อาจทำให้พิการถาวร เป็นอัมพาต และอาจถึงแก่ชีวิตได้
การดูแลสุขภาพของตนเอง
การควบคุมมลพิษทางอากาศเป็นงานที่มีความท้าทายอย่างมากและอาจต้องใช้เวลายาวนาน ในช่วงระหว่างนี้ เราจึงไม่มีทางเลือกนอกจากดูแลสุขภาพของตนเองหากเกิดมลพิษในอากาศด้วยการอยู่ในอาคาร ปิดหน้าต่างและประตูทั้งหมด และหากออกไปข้างนอก ให้สวมหน้ากากที่มีคุณสมบัติเหมาะสม ลดระยะเวลาทำกิจกรรมกลางแจ้ง สำหรับกลุ่มเสี่ยงเช่นผู้สูงอายุและผู้ที่มีปัญหาเกี่ยวกับหัวใจและปอดอยู่แล้ว ควรลดการสัมผัส PM2.5 ลงให้เหลือน้อยที่สุดเท่าที่จะทำได้ ผู้ป่วยที่มีปัญหาเกี่ยวกับระบบหัวใจและปอดเรื้อรังควรใส่ใจสุขภาพอย่างใกล้ชิดเพื่อป้องกันความรุนแรงของอาการในช่วงที่มีหมอกควันเพิ่มขึ้น
ที่มา:
Air pollution and health
https://www.thelancet.com/journals/lancet/article/PIIS0140-6736(02)11274-8/fulltext
PM2.5 Air Pollutants: Tiny Particles That Can Have Huge (Health) Consequences
https://www.samitivejhospitals.com/article/detail/pm2-5-air-pollutants
The impact of PM2.5 on the human respiratory system
https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC4740125/